top of page
maxresdefault-1.jpg

พระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ 

พระนิพนธ์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ลักษณะคำประพันธ์ 

                                   

  อินทรวิเชียรฉันท์   และ   โคลงสี่สุภาพ

 

ที่มาและเนื้อหา 

        ขัตติยพันธกรณี (เหตุอันเป็นข้อผูกพันของกษัตริย์) เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นกวีนิพนธ์ที่ผู้ใดได้อ่านจะประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นบทที่มีที่มาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของประเทศของเรา เหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2436 ไทยขัดแย้งกับฝรั่งเศสเรื่องเขตแดนทางด้านเขมร ฝรั่งเศสส่งเรือปืนแล่นผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ เข้ามาจอดทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ถืออำนาจเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นเหนือแผ่นดินไทย ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันชาติฝรั่งเศสและยื่นคำขาดเรียกร้องดินแดนทั้งหมดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้อำนาจปกครองของไทยเนื่องจากไทยให้คำตอบล่าช้า ทูตปาวีของฝรั่งเศสจึงให้เรือปืนปิดล้อมอ่าวไทย เป็นการประกาศสงครามกับไทย ซึ่งข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส ได้แก่  

1. ฝรั่งเศสในฐานะเป็นมหาอำนาจผู้คุ้มครองเวียดนามและกัมพูชา จะต้องได้ดินแดนทั้งหมดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง

2. ไทยจะต้องลงโทษนายทหารทุกคนที่ก่อการรุกรานที่ชายแดน

3. ไทยจะต้องเสียค่าปรับแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวน 3 ล้านฟรังค์เหรียญทอง (เท่ากับ 1,560 ,000 บาท สมัยนั้น)

        เหตุการณ์นี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งจนทรงพระประชวรหนัก ไม่ยอมเสวยพระโอสถใด ๆ ในระหว่างนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์บทโคลงและฉันท์ระบายความทุกข์โทมนัสในพระราชหฤทัยจนไม่ทรงปรารถนาที่จะดำรงพระชนม์ชีพอีกต่อไป ได้ทรงส่งบทพระราชนิพนธ์ไปอำลาเจ้านายพี่น้องบางพระองค์รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอด้วย เมื่อทรงได้รับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงนิพนธ์บทประพันธ์ถวายตอบทันที ทำให้กำลังพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง กลับเสวยพระโอสถ และเสด็จออกว่าราชการได้ในไม่ช้า 

           ส่วนพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ทั้งหมด มีเนื้อความแสดงความวิตกและความทุกข์ของประชาชนชาวไทยในพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สำหรับตัวพระองค์เองนั้น ถ้าเลือดเนื้อของพระองค์เจือยาถวายให้หายประชวรได้ก็ยินดีจะทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเปรียบประเทศชาติเป็นรัฐนาวา มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเป็นผู้บัญชาการเรือ เมื่อมาทรงพระประชวรและไม่ทรงบัญชาการ ผู้กระทำหน้าที่ต่าง ๆ ในเรือก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนไม่ถูก เป็นธรรมดาเมื่อเรือแล่นไปในทะเลในมหาสมุทรมีบางครั้งอาจเจอพายุหนักบ้างเบาบ้าง ถ้ากำลังเรือดีก็แล่นรอดไปได้ ถ้าหนักเกินกำลังเรือจะรับก็อาจจะล่ม พวกชาวเรือก็ย่อมจะรู้กัน ดังนั้นตราบที่เรือยังลอยอยู่ยังไม่จม ก็ต้องพยายามแก้ไขกันจนสุดความสามารถ เหมือนรัฐนาวาเจอปัญหาวิกฤติก็ต้องหาทางแก้จนสุดกำลังความสามารถถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับสภาพว่าถึงกรรมจะต้องให้เป็นไป แต่ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงทอดธุระเสีย ไม่ทรงหาทางแก้ไข ในที่สุดรัฐนาวาก็ย่อมจะไปไม่รอดต่างกันก็แต่ว่าถ้าพระองค์พยายามหาทางแก้ไขจนเต็มกำลังพระปรีชาสามารถแล้วแก้ไขไม่ได้ ก็ไม่มีใครมาว่าได้ว่าพระองค์ขลาดเขลาและไม่เอาพระทัยใส่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ถึงจะพลาดพลั้งก็ยังได้รับการยกย่องและความเห็นใจว่าปัญหาหนักใหญ่เกินกำลังจะแก้ไขได้

          สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเปรียบตัวพระองค์เองเหมือนม้าที่เป็นพระราชพาหนะ เตรียมพร้อมที่จะรับใช้เทียบหน้าพลับพลา คอยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ประทับและทรงบัญชาการให้ม้าไปทางใด ก็ยินดีจะทำตามพระราชบัญชา ไม่ว่าจะลำบากหรือใกล้ไกลเพียงใดก็ทรงยินดีรับใช้จนสิ้นพระชนม์ชีพ ถึงจะวายพระชนม์ก็จะตายตาหลับด้วยได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจที่มีต่อชาติบ้านเมืองสมกับพันธกรณีแล้ว ทรงขอให้อำนาจแห่งคำสัตย์ของพระองค์ดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงหายจากการประชวรทั้งพระวรกายและพระราชหฤทัย และขอให้สำเร็จพระราชประสงค์ที่ทรงปรารถนา ให้เหตุที่ทำให้ทรงขุ่นขัดพระราชหฤทัยเคลื่อนคลายเหมือนเวลาหลายปีได้ผ่านพ้นไป และขอให้ดำรงพระชนม์ชีพยืนนานเพื่อเกื้อกูลและสร้างความเจริญแก่ประเทศไทยตลอดไป

bottom of page