top of page

     

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สามัคคีเภทคำฉันท์  

         คำว่าสามัคคีเภท เป็นคำสมาส เภท มีความหมายว่า การแบ่ง การแตกแยก การทำลาย สามัคคีเภท จึงมีความหมายว่า การแตกความสามัคคี หรือ การทำลายความสามัคคี

     ผู้แต่ง 

          นายชิต บุรทัต   กวีในรัชกาลที่ 6  ในขณะที่บรรพชาเป็นสามเณร อายุเพียง 18 ปี ได้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในงานราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ 6  เมื่ออายุ 22 ปี ได้ส่งกาพย์ปลุกใจลงในหนังสือพิมพ์ สมุทรสาร นายชิตมีนามสกุลเดิมว่า ชวางกูร เมื่ออายุ 23 ปีได้รับพระราชทานนามสกุล “บุรทัต” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในปี 2450  ใช้นามปากกาว่า เจ้าเงาะ  เอกชน  และแมวคราว

     ลักษณะคำประพันธ์  (ฉันท์ )      

          แต่งเป็นบทร้อยกรอง โดยนำฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อหาแต่ละตอน  ประกอบด้วยฉันท์ 18 ชนิด  กาพย์ 2 ชนิด คือ กาพย์ฉบัง 16 และ กาพย์สุรางคนางค์ 28

     ที่มา

 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดวิกฤตการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง นายชิต บุรทัต จึงได้แต่งเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2457 เพื่อมุ่งชี้ความสำคัญของการรวมกันเป็นหมู่คณะ เรื่องสามัคคีเภท เป็นนิทานสุภาษิต ในมหาปรินิพพานสูตร และอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกายมหาวรรค ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ ของมหามกุฎราชวิทยาลัย โดยเรียบเรียงเป็นภาษาบาลี

     เนื้อเรื่องย่อ 

         พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ทรงมีวัสสการ พราหมณ์ผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์เป็นที่ปรึกษา มีพระประสงค์จะขยายอาณาจักร
ไปยังแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี  ซึ่งปกครองแคว้นโดยยึดมั่นในอปริหานิยธรรม (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม) เน้นสามัคคีธรรมเป็นหลัก  การโจมตีแคว้นนี้ให้ได้จะต้องทำลายความสามัคคีนี้ให้ได้เสียก่อน วัสสการพราหมณ์ปุโรหิตที่ปรึกษา จึงอาสาเป็นไส้ศึกไปยุแหย่ให้กษัตริย์ลิจฉวีแตกความสามัคคี  โดยทำเป็นอุบายกราบทูลทัดทานการไปตีแคว้นวัชชี  พระเจ้าอชาตศัตรูแสร้งกริ้ว รับสั่งลงโทษให้เฆี่ยนวัสสการพราหมณ์อย่างรุนแรงแล้วเนรเทศไป

         ข่าวของวัสสการพราหมณ์ไปถึงนครเวสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี  กษัตริย์ลิจฉวีรับสั่งให้วัสสการพราหมณ์เข้ารับราชการกับกษัตริย์ลิจฉวี  ด้วยเหตุที่เป็นผู้มีสติปัญญา มีวาทศิลป์ดี มีความรอบรู้ในศิลปะวิทยาการ ทำให้กษัตริย์ลิจฉวีรับไว้ในพระราชสำนัก ให้พิจารณาคดีความและสอนหนังสือพระโอรส  วัสสการพราหมณ์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความรู้ความสามารถ จนกษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัย ก็ดำเนินอุบายขั้นต่อไป คือสร้างความคลางแคลงใจในหมู่พระโอรส แล้วลุกลามไปถึงพระบิดา ซึ่งต่างก็เชื่อพระโอรส ทำให้ขุ่นเคืองกันไปทั่ว เวลาผ่านไป3 ปี เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีก็แตกความสามัคคีกันหมด แม้วัสสการ  พราหมณ์ตีกลองนัดประชุม ก็ไม่มีพระองค์ใดมาร่วมประชุม วัสสการพราหมณ์จึงลอบส่งข่าวไปยังพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ทรงยกทัพมาตีแคว้นวัชชีได้อย่างง่ายดาย

     ศิลปะการประพันธ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์  

         นายชิต บุรทัต  สามารถสร้างตัวละคร เช่น  วัสสการพราหมณ์ ให้มีบุคลิกเด่นชัด  และสามารถดำเนินเรื่องให้ชวนติดตาม  นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ ดังนี้

         1 เลือกสรรฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน เช่น ใช้วสันตดิลกฉันท์ 14 ซึ่งมีลีลาไพเราะ ชมความงามของเมืองราชคฤห์  ใช้อีทิสังฉันท์ 20 ซึ่งมีลีลากระแทกกระทั้นแสดงอารมณ์โกรธ

         2 ดัดแปลงฉันท์บางชนิดให้ไพเราะยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มสัมผัสบังคับคำสุดท้ายของวรรคแรกกับคำที่      3 ของวรรคที่ 2 ในฉันท์ 11 ฉันท์ 12 และฉันท์ 14  เป็นที่นิยมแต่งตามมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นายชิต บุรทัต  ยังเพิ่มลักษณะบังคับ ครุ ลหุ  สลับกันลงในกาพย์สุรางคนาง 28 ให้มีจังหวะคล้ายฉันท์ด้วย

         3 เล่นสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรอย่างไพเราะ  เช่น  คะเนกล – คะนึงการ  ระวังเหือด – ระแวงหาย

         4 ใช้คำง่าย ๆ ในการเล่าเรื่อง  ทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว  และผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ทันที

         5 ใช้คำง่าย ๆ ในการบรรยายและพรรณนาตัวละครได้อย่างกระชับ  และสร้างภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน

      อปริหานิยธรรม 7 ประการ

          1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

          2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

          3. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติเอาไว้  ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้  ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมตามที่วางไว้เดิม

          4. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี  ก็ควรเคารพนับถือท่านเหล่านั้น  เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

          5. บรรดากุลสตรีและกุลกุมารีทั้งหลายให้อยู่ดี  โดยมิถูกข่มเหงหรือฉุดคร่าขืนใจ

          6. เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก  ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป

          7. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง และป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

large.jpg
bottom of page